ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 5

ผลกระทบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หากผู้มีผลประโยชน์ร่วมขาดความเชื่อถือในระดับองค์กร และระดับประเทศ

จากทั้ง 4 ตอนที่ผมได้พูดถึงในเรื่องนี้ เป็นการเกริ่นนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจในกระบวนการกำกับ การบริหารเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม/ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องเกิดจากความเชื่อนั้น ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อการสร้างคุณค่าเพิ่ม มีคำถามมากมายเพื่อให้มั่นใจว่า การสร้างความเชื่อในระดับองค์กรอาจไม่พอเพียง หากผู้มีส่วนได้เสียไม่เชื่อถือกระบวนกำกับดูแล และการบริหารจัดการระดับประเทศ ขาดกรอบการดำเนินงานที่ดี ภายใต้บรรทัดฐานสากล อันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง การปฏิบัติตามสัญญา การปฏิบัติงานตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด โดยมีหลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงานที่เป็นกระบวนการ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างขององค์กรที่สัมพันธ์กับโครงสร้างของประเทศ ที่ประกอบไปด้วย การมีวัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมในการที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ ที่แผนงาน โครงการที่เป็นรูปธรรม ที่ต้องสัมพันธ์กับ การมีสารสนเทศที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้ มีบริการ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบงานที่ดี และแน่นอนว่า องค์กรและประเทศต้องมีบุคลากรที่มีทักษะ และศักยภาพที่สามารถเอื้อให้วิธีปฏิบัติบรรลุผล สนองตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้กรอบของหลักการ และนโยบาย ในระดับองค์กร และระดับประเทศ

digital-economy-and-sustainable-development

นี่คือ กรอบใหญ่ๆ ที่นำไปสู่การกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดีในระดับองค์กร และในระดับประเทศ ซึ่งในยุคใหม่ ยุค IOT – Internet of Things คือมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงกระบวนการสร้างคุณค่าเพิ่มที่มุ่งผลลัพธ์ไปยังเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นหลักใหญ่ นั้น กระบวนการดำเนินงานจะมีปัญหา หากไม่เกิดความเชื่อ ซึ่งอาจจะประเมินตนเองในระดับบุคลากร ในระดับองค์กร และในระดับประเทศได้ โดยการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบบางมิติดังต่อไปนี้ และขอให้ท่านผู้อ่าน ลองประเมินผลกระทบในภาพใหญ่ ในระดับประเทศ คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นเป้าหมายหลัก จากคำตอบที่น่าจะเป็นไปทางลบ และมีผลกระทบต่อ “ความเชื่อ” ที่มีผลต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

  1.  ประเทศ/รัฐบาล มีวิสัยทัศน์ มีนโยบาย มีกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง การกำกับดูแล การบริหารที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืนหรือไม่
  2.  มีแนวทางที่เป็นกรอบ และมีหลักการที่สอดคล้องกับ หลักการสากลในระดับบน ถึงระดับปฏิบัติการ ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับหลักการสากลในเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  3.  มีปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ตามวัตถุประสงค์ในการปกครอง ในการกำกับดูแล เพื่อการสร้างคุณาค่าเพิ่มในมิติของการได้รับผลประโยชน์ การริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่
  4. รัฐบาลและองค์กร มีหลักการปกครอบและบริหารครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ/องค์กร หรือไม่
  5. มีการประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่
  6. มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลออกจากการบริหารจัดการหรือไม่

คำถามในภาพกว้าง เพื่อประเมินตนเองในระดับรัฐบาล และในระดับองค์กรต่างๆ นั้น มีการเชื่อมโยงกับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอที ในระดับองค์กร และแน่นอนว่าจะต้องเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการไอทีระดับประเทศด้วย ซึ่งผมยังไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ เราควรตั้งคำถามต่อไปให้เป็นคำถามย่อยๆ เพื่อให้แน่ใจถึงความสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติว่า มีความขัดแย้งกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเพียงใด บางประการที่มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของประเทศ/องค์กร ดังต่อไปนี้

  • ประเทศและองค์กรมีบุคลากรที่มีทักษะ และศักยภาพที่เหมาะสมและพอเพียงในการผลักดัน การกำกับดูแลเศรษฐกิจและสังคม และการบริหารการจัดการ ให้เป็นไปตามหลักการใหญ่ๆ ข้างต้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวัดผลได้อย่างแท้จริง
  • รัฐบาล/ทางการ มีการยกเลิกสัญญาที่กระทำไว้กับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทข้ามชาติ เพียงคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเพียงมิติเดียว โดยไม่ถึงนึงถึงผลกระทบและผู้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในมิติอื่นๆ หรือไม่ เช่น โครงการจัดการน้ำ โครงการเหมือง ฯลฯ
  • การกำหนดเป้าหมายระดับประเทศ/องค์กร มีความสัมพันธ์กับการกำหนดเป้าหมายไอทีระดับประเทศ/องค์กร อย่างบูรณาการหรือไม่ (เพราะเรื่องทั้ง 2 เป็นเรื่องหลักการของการกำกับดูแลและการบริหารที่ดี ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันของผู้มีส่วนได้เสีย)
  • ประเทศ/องค์กร มีกรอบที่ครอบคลุมการบริหารทั่วทั้งประเทศ/องค์กร (end to end) ที่เป็นรูปธรรมในการระบุบทบาทหน้าที่ กิจกรรม และความสัมพันธ์ของผู้ัมีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ในการกำหนดทิศทางผู้บริหารที่มีการสั่งการ และวางแนวทาง การดำเนินงาน และการปฏิบัติตามคำสั่ง ตลอดจนการทำรายงานย้อนกลับมายังผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  • ประเทศ/องค์กร มีความเข้าใจถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงอยู่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สามารถวัดการดำรงอยู่ได้ เป็นกลยุทธ์ต้นๆ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่มุมมองทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในระยะยาว ที่ควรจะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ที่สำคัญในประเด็นต่อไปนี้หรือไม่ เช่น

–  การตอบสนองอย่างฉับไวต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

–  การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานหรือ การปฏิบัติที่ดีที่เป็นสากล และข้อตกลงบริการจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง

–  คุณค่าจากการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้มีส่วนได้เสีย

–  วัฒนธรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ และการดำเนินงาน

–  บุคลากรที่มีทักษะและแรงจูงใจที่ตระหนักว่า ความสำเร็จของประเทศที่มุ่งไปยังเศรษฐกิจและสังคม ที่มีผลต่อประชาชนส่วนใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคลากรของประเทศ/องค์กร

  • เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที หรือ ดิจิตอล มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ส่งผลลัพธ์สุดท้ายไปยังเศรษฐกิจและสังคม ต่อไปนี้ได้มีการพิจารณากันอย่างเหมาะสมเพียงใด

–  กลยุทธ์ทางด้านไอทีของประเทศ/องค์กร สอดคล้องไปในทางเดียวกับกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

–  การส่งมอบบริการทางด้านไอที เป็นไปตามความต้องการที่สนองตอบต่อการกำกับดูแลที่ดี ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม

–  ความเสี่ยง ที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกี่ยวข้องกับไอที สามารถบริหารจัดการได้ดี เป็นไปตามกรอบมาตรฐานการกำกับและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

–  ประเทศ/องค์กร มีความคล่องตัวทางด้านไอที ที่มีการกำหนดกรอบทางด้านนี้ไว้ชัดเจนแล้วว่าหมายถึงอะไร

–  ประเทศ/องค์กร มีความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานในการประเมินผล และระบบงานที่ดี

–  มีความพร้อมใช้ของสารสนเทศในระดับประเทศ/องค์กรที่เชื่อถือได้ และมีประโยชน์ในการตัดสินใจ

–  ประเทศ/องค์กร มีบุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถริเริ่มดำเนินการ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

การตรวจสอบความสมเหตุสมผลในการบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม และความสมเหตุสมผลในการบูรณาการดังกล่าว การบริหารกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายทางดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับไอทีนั้น รวมทั้ง ความคล่องตัวทางด้านไอที และการส่งมอบบริการทางด้านไอที มีความสำคัญมากเป็นระดับต้นๆ รัฐบาล/องค์กร มีความพร้อมแล้วหรือยัง?

เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีดังกล่าว ต้องถามต่อไปว่า จะขับเคลื่อนไปด้วยเป้าหมายของปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่มีผลไปถึงเป้าหมายของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับไอที กับกระบวนการที่สนับสนุนเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีที่นำไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่เป็นปัจจัยเอื้อในการประสบความสำเร็จดังกล่าว จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พฤติกรรม และจริยธรรม โครงสร้างการจัดการระดับประเทศ/องค์กร

ผลของการประเมินตนเองในกรอบใหญ่ๆ ตามตัวอย่างข้างต้น ผู้ประเมินตนเอง ทั้งในระดับรัฐ  องค์กร และบุคลากร ควรมีความเข้าใจในกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันและกันอย่างลึกซึ้ง ระหว่างเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน กับความสัมพันธ์ของเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีอย่างแท้จริง เพราะจะมีผลลัพธ์ต่อการประเมิน “การประเมินความน่าเชื่อถือของประเทศ/องค์กร”

 

การประเมินความน่าเชื่อถือ และคำถามบางประการที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอที ระดับประเทศ/องค์กร

หลักการกำกับดูแล และการบริหารจัดการที่ดีที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ/องค์กร นั้น การบูรณาการและการควบคุมกำกับดูแลไอที ระดับประเทศ/องค์กร เข้าไปในการควบคุมกำกับดูแลการบรรลุวัตถุประสงค์ระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม และการเติบโตอย่างยั่งยืนของประชาชนภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2575 นั้น ผมใคร่ขอย้ำว่า ระบบการกำกับดูแลของไอทีระดับประเทศ/องค์กร ตามที่กล่าวโดยย่อข้างต้น และตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาแล้วในเรื่องก่อนหน้านี้ สามารถบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ เข้ากับระบบการกำกับดูแลที่ดีได้ทุกเรื่อง และเป็นสากลด้วย เพราะการกำกับและการดำเนินงานดังกล่าว สามารถครอบคลุมหน้าที่งานและกระบวนการทั้งหมดที่จำเป็นที่ต้องกำกับดูแลและบริหารจัดการสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระดับประเทศ/องค์กร จะได้รับการประเมินผลที่สามารถขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และในองค์กรหลักๆ ได้อย่างมั่นใจ เพื่อการก้าวไปสู่เป้าหมายหลักที่สำคัญยิ่งของประเทศในการสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ในกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผมใคร่ขอทบทวนวัตถุประสงค์ของการกำกับดุแลที่ดี เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม และมีผลดีต่อผู้มีผลประโยชน์ร่วมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลที่ชัดเจน ในเรื่องการได้รับผลประโยชน์ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ/องค์กร ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ปราศจากการคอรัปชั่นในทุกรูปแบบ ที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ ที่เกี่ยวข้องกับ IT Risk และ Economic and Social Risk รวมทั้งขอบเขตและกรอบการกำกับดูแลที่เชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ตามนโยบายดิจิตอล และวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยเอื้อ เพื่อการกำกับดูแลที่ดี โดยการกำหนดบทบาทหน้าที่ กิจกรรม และความสัมพันธ์ให้เป็นไปตามหลักการและกรอบการดำเนินงานระดับประเทศ/ องค์กร สำหรับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดี

ในตอนต่อไป ก่อนที่เราจะประเมินเรื่องความน่าเชื่อถือของประเทศไทย/องค์กร จะมีคำถามเพื่อการประเมินตนเองต่อเนื่องกันไปบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดี ที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้เสียภายใน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก โดยการตั้งคำถามจากผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวว่า เราควรจะตอบคำถามที่มีเหตุมีผลในการบริหารการสร้างคุณค่าเพิ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นดุลยภาพของการบริหารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริงต่อไปครับ

 

ใส่ความเห็น