ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 8

ผลกระทบต่อความเชื่อ ต่อการไม่ตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม (ภาคต่อ)

ในการเขียนหรือเล่าสู่กันฟังในเรื่องเกี่ยวกับ ความเชื่อกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ของผมนั้น มีเป้าประสงค์หลักที่จะแบ่งปันความคิด ปัจจัย และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องที่คำนึงถึงหลักการ กรอบการกำกับดูแลการบริหารประเทศ และการบริหารองค์กรที่ดี ที่ควรคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในระดับประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับบริบทของโลก ที่ไม่อาจคำนึงถึงเพียงบริบทของไทยได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโลกของเรานี้มีการติดต่อ เชื่อมโยงถึงกันได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ด้วยการพลิกโฉมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการคิดค้นการสร้างคุณค่าเพิ่ม ที่สามารถสร้างความได้เปรียบ ด้านต้นทุนและการแข่งขัน ที่มี Business Model ในการกำกับและการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงบริบทโลก หรือมาตรฐานสากล และกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เรียกว่า ธรรมาภิบาลสากล นั้น ก็คงยากที่จะพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักของประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งประเทศไทยได้ติดอยู่ในบ่วงของประเทศผู้มีรายได้ปานกลางมามากกว่า 20 ปีแล้ว และอาจจะยังต้องติดอยู่ในบ่วงประเทศผู้มีรายได้ปานกลางไปอีกนานปี เพราะผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำของประเทศ ยังมีความเข้าใจในบริบทของคำว่า “ธรรมาภิบาล” หรือ “Governance” ที่แตกต่างกัน

ผมขอพูดสั้นๆ เป็นการเกริ่นนำของ ความเชื่อกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในตอนที่ 8 นี้ว่า ความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ หรือ การไม่ทุจริต หรือ การเป็นคนดี หรือ การเป็นคนมีคุณธรรม หรือ การเป็นคนสุจริต หรือ การมุ่งผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศชาติเป็นหลัก +++ แต่ผู้นำในระดับประเทศหรือในระดับองค์กร ขาดวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ขาดนโยบายที่ชัดเจน ขาดการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม ขาดการวางแผนงานที่เหมาะสม ขาดการติดตามที่เหมาะสม ขาดการมีเครื่องมือวัดศักยภาพที่มีประสิทธิผล ในเป้าหมายเป้าประสงค์ต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและในระดับองค์กร ที่ขาดหลักการอันเป็นที่ยอมรับในการใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน ในการผลักดันให้ประเทศไปสู่การมีรายได้สูง หรือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ตามที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่า ภายในปี 2575 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือ 100 ปี นับจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็จะเป็นเพียงความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้เลย ถ้าหากประเทศชาติไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และขาดความเชื่อมั่นทางด้านธรรมาภิบาลระดับประเทศที่ดี ซึ่งมีองค์ประกอบและมีกรอบการวัดความน่าเชื่อถือของประเทศในหลายมิติ และในหลายมุมมอง โดยมีรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละองค์ประกอบมากมาย ซึ่งผมจะขอขยายความที่จะกล่าวในตอนต่อๆ ไป นะครับ

ในตอนที่ 8 นี้ ผมขอกล่าวสั้นๆ ว่า บริบทสากลหรือบริบทโลกที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีมีศักยภาพในการแข่งขันที่ดี มีเศรษฐกิจที่ดี มีปัจจัยการลงทุนต่างๆ ที่ดี มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการศึกษาที่ดี +++ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thanland 4.0 นั้น ควรจะมีกรอบการกำกับทางด้านธรรมาภิบาลที่ดี ที่มีหลักการและบริบทของโลกที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ที่ผู้บริหารประเทศควรคำนึงถึงก็คือ

  1. การแยกการกำกับออกจากการบริหาร
  2. การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มจากความไว้วางใจ โดยกำหนดผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความเสี่ยงที่เหมาะสมของประเทศ และของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งจัดให้มีการใช้ทรัพยกรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกำหนดเป้าหมายระดับประเทศที่ชัดเจน ไม่กำกวม และเชื่อมโยงเป้าหมายดังกล่าวกับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางด้านไอที จากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังเป้าหมายของปัจจัยเอื้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะได้กล่าวอย่างละเอียดต่อไป
  3. มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน และกำหนดความสัมพันธ์ของแต่ละหน้าที่นั้น อย่างไม่กำกวม ครอบคลุมทั่วทั้งโครงสร้างของการกำกับ ในการบริหารจัดการไอทีทั้งประเทศ
  4. จัดให้มีการประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ ใช้บริบทการกำกับที่เป็นสากลของการจัดการของประเทศ ภายใต้หลักการ ธรรมาภิบาลทางด้านไอที เพื่อประเทศที่ดีที่ต้องการความเข้าใจอย่างแท้จริงของผู้นำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
  5. จัดให้มีวิธีปฏิบัติแบบองค์รวม สัมฤทธิ์ผล  หัวข้อนี้สำคัญมาก เพราะจะเกี่ยวข้องกับ

5.1 หลักการ นโยบายและกรอบการดำเนินงานของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คาดหวังให้เป็นแนวทางปฏิบัติได้จริง สำหรับการกำกับและการบริหารจัดการประจำวัน

5.2 มีกระบวนการบริหารที่เชื่อมโยงกับข้อ 5.1 ภายใต้กรอบการกำกับดูแลระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับไอทีโดยรวม

5.3 มีโครงสร้างในกรอบงานภาครัฐที่เชื่อมโยงกับการกำกับงานของผู้นำประเทศ ที่เชื่อมโยงกับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ และต่อยอดไปยังหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างได้ดุลยภาพ

5.4 จัดให้มีวัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมของประชาชน ที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของกิจกรรมและการจัดการ

5.5 มีการบริหารทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้แก่

  • การจัดการสารสนเทศ และข้อมูลที่สามารถใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ และถึงระดับประชาชน และสารสนเทศดังกล่าวต้องคำนึงถึงว่า เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และระบบงาน (Application) ที่ใช้สำหรับการประมวลผล และบริการอื่นๆ ด้านเทคโนโลยี ตามเป้าหมายของ Thailand 4.0 ที่ใช้บริบทสากล
  • จัดให้มีการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับตัวบุคลากรที่จะช่วยให้ตัวกิจกรรมทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และช่วยให้การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ขออภัยนะครับที่ ผมตั้งใจจะกล่าวสั้นๆ ในหลักการของความเชื่อกับการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยพ้นไปจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานปลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบริบท แนวความคิดของผู้บริหารประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และขออนุญาตเชื่อมโยงกับปาฐกถาพิเศษ ของท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ ที่พูด ในงาน Dinner Talk ในหัวข้อเรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” ที่ผมได้นำเสนอไปในตอนที่ 7 บ้างแล้ว เพราะผมคิดว่าข้อมูลที่ท่านผู้ว่าการฯ ได้พูดนั้น มีสาระที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และผมขอนำมาเสนอต่อในตอนนี้นะครับ

“ท่านผู้มีเกียรติครับ ถ้าเราหันมามองบริบทของเศรษฐกิจไทยบ้าง แม้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ และสภาวะ VUCA ในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ยากที่จะคาดเดา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในภาพรวม สามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ก็ชัดเจนมากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ผ่านมา

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถทนทานความผันผวนและแรงปะทะได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัว ดำเนินการต่างๆ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจดทะเบียน ที่เคยสูงถึงประมาณ 5 เท่าในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ลดลงเหลือไม่ถึง 2 เท่าในปัจจุบัน ขณะที่เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการคลัง ตลอดจนฐานะด้านต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “กันชน” ที่ช่วยรองรับแรงปะทะและจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้ดีระดับหนึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยแม้ว่าเราจะมีกันชนที่ดีแต่กาลังเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่สำคัญหลายเรื่อง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งสร้างความเปราะบางและเป็น “ต้นทุนแฝง” ของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ การดูแลประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้น และปรับตัวได้ในระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราต้องระวังไม่ให้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาบดบังเรื่องสำคัญสาหรับในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งต่อจากนี้ไปจะมาเร็วขึ้น ผมเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจสังคมไทยมีอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกันที่จะขออนุญาตเรียนนำเสนอในคืนนี้

ปัญหาแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของรายได้และโอกาส แม้การพัฒนาประเทศของเราจะก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับไม่ดีขึ้น ตัวเลขสถิติหลายตัว สะท้อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น

– กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดร้อยละ 10 สุดท้าย ถึง 22 เท่า

– ที่ดินทั่วประเทศกว่าร้อยละ 60 ถือครองโดยคนกลุ่มที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 10 แรก เท่านั้น

– คนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของประเทศ เป็นเจ้าของมูลค่าเงินฝากในระบบถึงกว่าร้อยละ 80

นอกจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือทรัพย์สินแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในประเทศก็สูงขึ้นมากเช่นกัน คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ปวส. เพียงประมาณร้อยละ 4 ของจำนวนคนในกลุ่มเท่านั้น สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ศึกษาต่อ และมีอัตราการ drop out สูงมาก นอกจากนี้ โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และโอกาสในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก มีจำกัดมากในสังคมไทย

ผมคิดว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข และปล่อยให้เลวร้ายลงแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความแตกแยกในสังคม และการแบ่งขั้วทางความคิดรุนแรงขึ้น ดังที่เราเห็นบทเรียนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ปัญหาเชิงโครงสร้างปัญหาที่สองคือ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดของจำนวนประชากรในวัยทำงานมาแล้ว และในตอนนี้ประชาชนวัยทำงานจะลดลงทุกปี และอีกไม่ถึง 15 ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” คือ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ในขณะที่อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างประชากรเช่นนี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของประเทศลดลงมาก และผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย จะไม่เกิดขึ้นในลักษณะเส้นตรง (linear) แต่จะเกิดขึ้นเร็ว เมื่อแต่ละภาคส่วนลุกขึ้นปรับตัว เตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุที่กาลังจะเกิดขึ้น

นอกจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ผมเชื่อว่าหลายท่านในห้องนี้เห็นตรงกันว่า ธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะความชำนาญที่ตรงกับความต้องการ ตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและด้านวิชาชีพมากขึ้น แต่แรงงานส่วนใหญ่กลับเป็นบัณฑิตในระดับปริญญาจำนวนมาก ขาดทักษะวิชาชีพ ด้านภาษาและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นในบริบทโลกยุคใหม่

ขณะเดียวกัน ปัญหาคุณภาพการศึกษา ที่ด้อยลง ยิ่งทำให้ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้น ผลการทดสอบนานาชาติชี้ว่าเด็กไทย มีทักษะการแก้ปัญหาขั้นสูงเพียงร้อยละ 2 ในขณะที่เด็กสิงคโปร์และเวียดนามมีทักษะนี้สูงถึงร้อยละ 35 และร้อยละ 12 ตามลาดับ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูงเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนึ่งที่ฉุดรั้งศักยภาพคนไทยในระดับปัจเจก ข้อมูลในระดับจุลภาคที่เราทำการศึกษา พบว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเป็นหนี้นานขึ้น คือ ระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ และแทบไม่น่าเชื่อว่า

ถ้าดูเฉพาะกลุ่มประชากรอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นวัยสร้างฐานะสร้างครอบครัว ประมาณครึ่งหนึ่งมีหนี้ และคนที่มีหนี้ กว่า 1 ใน 5 มีหนี้ เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน คนที่ตกอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วม” เช่นนี้ ย่อมพะวักพะวน เครียด ขาดสมาธิในการทำงาน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ หรือ ยกระดับศักยภาพของตนเองได้

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เป็นอีกปัญหาสำคัญที่จะมีผลไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ งานศึกษาของ OECD ทั่วโลกชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่มีผลิตภาพ (productivity) โดยรวมสูงกว่าบริษัททั่วไปขนาดกลางและขนาดเล็ก เฉลี่ย 4-5 เท่า และมี ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานสูงกว่าถึง 10 เท่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะเผชิญปัญหา ไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทันบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก

หากดูข้อมูล NPL ที่แยกตามขนาดของธุรกิจในประเทศไทย เราจะเห็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ อาทิเช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด ธุรกิจก่อสร้าง และการค้าส่งและปลีก ในภาคธุรกิจเหล่านี้เราเห็น NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับ NPL ของ SMEs ที่โน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะ SMEs มีสายป่านสั้น ทำให้แข่งไม่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำมาเป็นเวลานาน แต่อีกส่วนเชื่อว่า เป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ในต่างจังหวัด ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลางที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภาพ เทคโนโลยีที่สูงกว่า หรือเครือข่ายการทำธุรกิจที่กว้างกว่า

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ การยกระดับศักยภาพของ SMEs เป็นเรื่องที่ต้องทำจริงจังและทำอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมาก เพราะการเข้าถึงสินเชื่อหรือตัวเลขภาคการเงินเห็นได้ง่าย เป็นกระจกเงาที่สะท้อนปัญหาการทำธุรกิจของ SMEs แต่การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และลดความเสี่ยงของการทำธุรกิจ SMEs ในระยะยาว ข้อมูลจากระบบการเงินพบว่าในเวลานี้ SMEs จำนวนไม่น้อยมีวงเงินสินเชื่อเหลือ อัตราการใช้สินเชื่อลดลงในช่วงที่ผ่านมาเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินที่มี รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ SMEs ที่มีศักยภาพได้รับก็อยู่ในระดับต่ำลงกว่าเดิมมาก ผมคิดว่า SMEs ต้องการการสนับสนุนด้านความคิด การบริหารจัดการ เครือข่ายการทางาน เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนศักยภาพ SMEs ให้สูงขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจฐานรากจะเปราะบาง และย้อนมาเป็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ปัญหาที่สามคือ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามปรับปรุงการบริหารงานและการบริการในหลายด้าน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพและประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐหลายเรื่อง ต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังเป็นปัญหารุนแรง ดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ปี 2559 ของไทยอยู่อันดับที่ 1017 จาก 176 ประเทศ เราทุกคนตระหนักดีว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่เก่งและดี อยากทำธุรกิจในสังคมที่มีการคอร์รัปชันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะจะต้องเผชิญแต่ความไม่แน่นอน ไร้กฎเกณฑ์ และมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ จนเป็น “ต้นทุนแฝง” ที่ไม่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

อีกปัญหาสำคัญขององค์กรภาครัฐคือ กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ และ มีใบอนุญาต มากกว่า 3,000 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน และจำเป็นต้องได้รับการทบทวนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากเหล่านี้ นอกจากจะเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม เพราะกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เขียนขึ้นตามบริบทของโลกเดิม วิธีปฏิบัติแบบเดิม ไม่เอื้อต่อการทำงานในบริบทของโลกใหม่ ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ องค์กร ประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP และส่งผลต่อความยากง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) รวมทั้ง ความน่าลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม หลายประเทศที่ปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และต้นทุนการทำธุรกิจลดลง

ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในปี 2551 เกาหลีใต้มีอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 23 ต่ำกว่าไทย ซึ่งอยู่ที่อันดับ 13 ขณะที่ ในปีที่แล้วอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยตกไปอยู่อันดับที่ 46 ขณะที่เกาหลีใต้อยู่อันดับ 5 สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คงเป็นเพราะเกาหลีใต้ปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง”

ปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวถึง ยังมีอีกหลายมุมมองหลายมิติ ที่มิได้จบเพียงเท่านี้ ยังมีการปรับตัว การเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวไปสู่โลกยุคใหม่ที่ต้องติดตามในตอนต่อไปครับ

ใส่ความเห็น