บทบาทของผู้กำกับและผู้บริหารที่เกี่ยวกับพรบ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (บางมุมมอง)

พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ก่อนที่ผมจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของผู้กำกับและผู้บริหารที่เกี่ยวกับพรบ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (บางมุมมอง) ที่สัมพันธ์กับ พรบ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

บทบาทของผู้กำกับ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน จาก Regulatory Body/Regulators ที่ไปกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Regulated Entities) เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้ัองตาม พรบ. ไซเบอร์นี้นั้น ผมได้นำบางส่วนที่สำคัญของ พรบ. นี้ มาเกริ่นนำให้ท่านได้ทราบเนื้อหาและความสำคัญ ก็เพราะสิ่งที่ผมจะได้กล่าวต่อไปนี้จะเกี่ยวข้องกับ

Responsibility : ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติงานที่มีความรู้ความสามารถ ศักยภาพ/ที่ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับหรือผู้บริหารสูงสุด (Regulatory Body/Regulators) ของหน่วยงาน

Accountability : ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจและความรับผิดชอบระดับงานสูงสุดตาม พรบ. ไซเบอร์ หรือของหน่วยงาน เช่น การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ ความเสี่ยงในระดับที่องค์กร/หน่วยงานยอมรับได้ (Risk Appetite) แผนงาน/โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินงาน (Performance) ที่ได้ดุลยภาพกับการปฏิบัติตามกฎหมาย/พรบ.ฯ มาตรฐาน ประกาศ คำสั่ง และระเบียบต่างๆ (Conformance) รวมทั้งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการประเมินผล (Evaluate) สั่งการ (Direct) เฝ้าติดตามผล (Monitor) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยรวมขององค์กร/หน่วยงาน

Consulted : ผู้มีหน้าที่ให้คำแนะนำในกระบวนการที่ต้องใช้ข้อมูล/สารสนเทศ/ธรรมาภิบาลด้านไซเบอร์ ขั้นตอนและกระบวนการประมวลข้อมูลฯ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดถึงผลลัพธ์และประโยชน์ที่จะได้รับ

Informed : ผู้ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูล/สารสนเทศ/ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างได้ดุลยภาพ

ที่มา : https://www.fhnw.ch

ดังนั้น จากประกาศที่มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 พระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้ สอดคล้องกับเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา (คัดลอกและคัดเลือกมาบางส่วนเพื่อใช้ประกอบในการเขียนบทความนี้ ตามหัวข้อข้างต้น)

ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านจากความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับบทบาทของผู้กำกับและผู้บริหาร พรบ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (บางมุมมอง) ผมได้โปรยหัวข้อที่มีความสำคัญที่ผมตั้งใจที่จะแบ่งปันในเรื่องนี้ก็คือ ทั้งหน่วยงานกำกับ และหน่วยงานที่ได้รับการกำกับ จะต้องระบุหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับ Accountability, Responsibility, Consulted และ Informed ของแต่ละกระบวนการ (Process) และกิจกรรม (Activity) ให้ชัดเจนที่สามารถติดตามผลการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ และใช้เป็นกรอบในการดำเนินการตาม พรบ.ไซเบอร์ ในการบริหารจัดการกระบวนการทางไอที ในระดับประเทศ และระดับองค์กรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากนะครับ

เพราะการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) หน่วยงานกำกับและหน่วยงานที่ได้รับการกำกับ ควรจะมีความเข้าใจตรงกันในบทบาทที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ องค์ประกอบที่สำคัญของ Governance ที่ต้องประกอบด้วยผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ ควบคู่และบูรณาการกันกับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่จะถ่ายทอดเป้าหมายไปสู่ระดับองค์กร และถ่ายทอดต่อไปยังเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที และถ่ายทอดต่อไปยังเป้าหมายของปัจจัยเอื้อ ที่จะผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จ ซึ่งได้แก่ ผู้กำกับและผู้ได้รับการกำกับตาม พรบ.ไซเบอร์ นี้ จะต้องมีหลักการที่ได้รับการยอมรับกันเป็นสากล ในการใช้เป็นธงนำในการสร้าง Value Creation ต่อผู้มีส่วนได้เสีย และมีปัจจัยเอื้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อกระบวนการและระบบการกำกับการบริหารงานตาม พรบ.ไซเบอร์ 7 เรื่อง คือ 1) หลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงาน ที่สัมพันธ์กันกับข้ออื่นๆ อีก 6 ข้อ คือ 2) กระบวนการ 3) โครงการ 4) วัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรม 5) สารสนเทศ 6) บริการ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบงาน และ 7) บุคลากร ทักษะ และศักยภาพ

ที่มา : http://www.coso.org

สำหรับมาตราต่างๆ ต่อจากนี้ไป ที่ผมคัดเลือกมาบางส่วนนั้น ได้แก่

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” หมายความว่า มาตรการหรือการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทหาร และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

“ภัยคุกคามทางไซเบอร์” หมายความว่า การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ โดยมิชอบ โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์ โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ไซเบอร์” หมายความรวมถึง ข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม และระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกัน ที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระองค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

“ประมวลแนวทางปฏิบัติ” หมายความว่า ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กำหนด

“เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่มิชอบซึ่งกระทำการผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์

“มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” หมายความว่า การแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยใช้บุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี โดยผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบริการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ใด ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์

“โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ” หมายความว่า คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ใช้ในกิจการของตนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

หมวด ๑ คณะกรรมการ

ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กมช.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า“National Cyber Security Committee” เรียกโดยย่อว่า “NCSC” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

มาตรา ๙ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๒
(๒) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ
(๓) จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับเป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ที่อาจจะเกิด หรือเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนระดับชาติและกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(๔) กำหนดมาตรฐานและแนวทางส่งเสริมพัฒนาระบบการให้บริการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างมาตรฐานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงส่งเสริมการรับรองมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานเอกชน
(๕) กำหนดมาตรการและแนวทางในการยกระดับทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
(๖) กำหนดกรอบการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
(๗) แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ
(๘) มอบหมายการควบคุมและกำกับดูแล รวมถึงการออกข้อกำหนด วัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ และกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ
(๙) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๑๐) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
(๑๑) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 

ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

มาตรา ๑๒ ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า “กกม.” ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพลังงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสี่คน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคนหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาบุคคลที่เห็นสมควร เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๓ กกม. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนตามมาตรา ๙ (๑) และมาตรา ๔๒
(๒) ดูแลและดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖
(๓) กำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์
(๔) กำหนดประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อันเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการประเมินความเสี่ยง การตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญหรืออย่างร้ายแรงต่อระบบสารสนเทศของประเทศ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
(๕) กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน้าที่ของหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล โดยอย่างน้อยต้องกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล ต้องกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงาน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยงานของรัฐ
(๖) กำหนดระดับของภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมทั้งรายละเอียดของมาตรการป้องกัน รับมือประเมิน ปราบปราม และระงับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในแต่ละระดับเสนอต่อคณะกรรมการ
(๗) วิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาสั่งการ เมื่อมีหรือคาดว่าจะมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงขึ้น

ในการกำหนดกรอบมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง (๔) ให้คำนึงถึงหลักการบริหารความเสี่ยง โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยวิธีการและมาตรการ ดังต่อไปนี้
(๑) การระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทรัพย์สินและชีวิตร่างกายของบุคคล
(๒) มาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
(๓) มาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์
(๔) มาตรการเผชิญเหตุเมื่อมีการตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์
(๕) มาตรการรักษาและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

มาตรา ๑๔ ในการดำเนินการตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง (๒) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ทันท่วงที กกม. อาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และกรรมการอื่นซึ่ง กกม. กำหนด ร่วมกันปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าวได้ และจะกำหนดให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่ถูกคุกคามเข้าร่วมดำเนินการประสานงาน และให้การสนับสนุนด้วยก็ได้ การปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกม. กำหนด

มาตรา ๑๕ ให้นำความในมาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ มาใช้บังคับกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กกม. โดยอนุโลม

สำหรับตอนแรกของบทบาทของผู้กำกับและผู้บริหารที่เกี่ยวกับพรบ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (บางมุมมอง) จึงขอเน้นในเรื่อง RACI and Cyber Law ที่เกี่ยวข้องกับ Peple, Process และ Technology ครับ

ระบบดี คนดี นั้นดีแน่

ระบบดี คนแย่ พอแก้ไข

ระบบแย่ คนดี มีทางไป

ระบบแย่ คนไม่เอาไหน บรรลัยเอย

ขอโด้โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

ใส่ความเห็น