จนถึงวันนี้ ทุกท่านก็คงทราบแล้วนะครับว่า ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับโครงการมาบตาพุด ซึ่งมีผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ และต่อรายได้ที่หายไปประมาณ 130,000 ล้านบาทโดยประมาณ และอาจมีผลกระทบต่อ GDP ในปี 2553 โดยลดลงประมาณ 0.5% ตามที่เป็นข่าวและทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้น ได้สร้างความใจหายและความหวาดหวั่นต่อกลไกการลงทุน ตลอดจนแรงงานของชาติที่จะเข้าไปในตลาดแรงงาน และอื่น ๆ เป็นอย่างยิ่ง
คำถามต่อไปก็คือ กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ร่วมอื่น ๆ ในสังคมไทยคิดอย่างไร? ต่อผลกระทบในครั้งนี้ จริงอยู่เราต้องเคารพการพิจารณาของศาล แต่การตัดสินครั้งนี้ได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนไปอย่างน่าใจหาย และตามมาด้วยข่าวระทึกขวัญต่อมาอีกว่า NGO จ้องที่จะฟ้องอีก 181 โครงการ บางส่วนของผู้มีผลประโยชน์ร่วม คือชาวมาบตาพุด ก็หลั่งน้ำตาด้วยความดีใจที่ศาลสั่งระงับ 65 โครงการ เพราะทำให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมอาจดีขึ้นได้
คำถามที่ต้องการคำตอบในระยะยาวก็คือ CSR – Corporate Social Responsibility กับความไว้วางใจระหว่างกลุ่ม Stakeholder ต่าง ๆ โดยเฉพาะนักลงทุน ผู้ให้กู้ยืมเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ คำสั่งซื้อขายล่วงหน้าจากการที่ผู้ซื้อในต่างประเทศคาดหวังว่า จะดำเนินการได้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ แต่ไม่อาจทำได้ ซึ่งยังมีการฟ้องร้องตามมาอีกมากมาย
ความเสียหายจากที่กล่าวข้างต้นจะมีใครเป็นผู้รับผิดชอบ หากท่านเป็นนักลงทุนไม่ว่าในหรือต่างประเทศ ได้รับการอนุมัติลงทุนและให้เริ่มสร้างโรงงานได้ โดยมีหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้ให้ความเห็นว่า ดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักลงทุนก็ได้สร้างโครงการขึ้นมา หลาย ๆ แห่งก็เกือบจะเสร็จสิ้นลงแล้วนั้น อยู่ ๆ ก็มีหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งที่เป็นอิสระสั่งให้ระงับโครงการทั้งหมด โดยมีความเห็นที่ต่างมุมมองกัน แต่ก็มีผลอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินการที่ได้ผ่านมาแล้ว
หากท่านเป็นนักลงทุน เป็นนักการเงิน เป็นนักกฎหมาย เป็นผู้กำกับที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ท่านคิดอย่างไร? ถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน
การฟ้องร้องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีขึ้นแน่นอน และในที่สุด ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างยิ่งและเป็นอย่างมาก ซึ่งหากนำหลักการบริหารความเสี่ยงกับแนวทางของ COSO – ERM มาใช้ ก็น่าจะพิจารณาได้ว่าผลกระทบนั้นสูงเกินกว่าระดับที่ยอมรับ (Risk Appetite/Risk Tolerance) ได้เป็นแน่นอน
อีกครั้งหนึ่งที่ผมใครจะกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาบตาพุดในครั้งนี้ ไม่เคยนำเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นมาพิจารณาเป็นบรรทัดฐาน เนื่องจากหลักการบริหารความเสี่ยงของประเทศเชิงบูรณาการในภาพโดยรวมนั้น เข้าใจว่ายังมีกรอบจำกัดค่อนข้างมากในการนำมาใช้ในการกำหนดผลกระทบจากการบริหารที่ขาดการประสาน และบูรณาการ ในมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผมใคร่ขอออกความเห็นเป็นการส่วนตัวว่า ขณะนี้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วในมุมมองต่าง ๆ ไม่ว่าจะมองในมุมมองใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการบริหารแบบสอดประสานและบูรณาการ ตามหลัก GRC – Governance + Risk Management + Compliance ซึ่งเป็นกรอบการบริหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในการนำมาบริหารและจัดการ เพื่อลดช่องว่างในเรื่อง Alignment and Integration ในระหว่างหน่วยงาน และข้ามหน่วยงาน ดังกรณีมาบตาพุดน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล น่าจะพิจารณาหรือทบทวนไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
กรณีมาบตาพุดนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาชี้แจงในเช้าวันนี้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าอำนาจและหน้าที่ ไม่ว่าจะมองในมุม Responsibility และมองในมุมของ Accountability ตามหลัก CG และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รวมทั้ง ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับ Social and Environmental Awareness ซึ่งเป็นข้อหนึ่งของหลักการ CG นั้น ก็เป็นเรื่องที่เกินกว่าหน่วยงานนี้เพียงลำพังจะรับผิดชอบได้ และน่าจะมีลักษณะผลกระทบจากภายนอก ที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเกิดจากการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของหน่วยงานรัฐแห่งอื่นว่า โครงการที่เป็นปัญหานี้สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อดำเนินการแล้วก็มีหน่วยงานของรัฐที่อิสระอีกแห่งหนึ่งบอกว่าทำไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเคารพในความคิดเห็นที่ต่างมุมมอง
อย่างไรก็ดี จากการชี้แจงโดยท่านรองผู้ว่าการ กนอ. ในเช้าวันนี้ ก็ทราบว่า ทางกนอ. จะมีกระบวนการที่จะเพิ่มมาตรการที่จำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติทางหน่วยงานก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษอยู่แล้ว และจากการประเมินความพึงพอใจด้านสภาพแวดล้อมกับชุมชนใกล้เคียงในปี 2552 ก่อนที่จะเกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้น ชุมชนใกล้เคียงกับมาบตาพุดก็ยังพึงพอใจการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดีจากผลการประเมินที่ออกมา ในกรณีที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ไป การประเมินผลในเรื่องความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง และตามทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลที่เกิดจากมาตรการการแก้ไขของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 67 วรรค 2 ต่อไปด้วย
แต่ความเป็นจริงก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง กว้างขวาง ล้ำลึกที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ที่จะเป็นปัญหาให้ต้องแก้ไขแทนที่จะนำหลักการบริหารความเสี่ยงตามหลักการของ COSO – ERM มาใช้ ซึ่งสามารถจะระบุเหตุการณ์หรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในต่างมุมมอง โดยกำหนดกรอบหรือระดับความเสียหายที่ยอมรับได้หรือไม่ได้ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างความเชื่อถือได้เป็นอย่างมากต่อผู้มีผลประโยชน์ร่วมในกลุ่มต่าง ๆ จะต้องศึกษาจากบทเรียนครั้งนี้ในมุมมองต่าง ๆ เพื่อให้ได้การบริหารและการจัดการต่อผู้มีผลประโยชน์ร่วมในกลุ่มต่าง ๆ
อย่างได้ดุลยภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องต่อกระบวนการลงทุนของชาตต่อไป
อย่างไรก็ดี ผมมีความเข้าใจว่า เรื่องนี้ร้ายแรงเกินกว่าที่ทางการยอมรับได้ ถึงแม้จะมีผลเสียหายไปแล้วก็ตาม ทางการก็คงจะมีโครงการ และมีโครงสร้างที่จะดำเนินการจัดการกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และดูแลกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ร่วมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน 67 วรรค 2 ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าจะทำได้ในที่สุด
หากมีโอกาสคงจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในตอนต่อ ๆ ไปครับ