ความเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่อิงขั้วการเมืองใด ซึ่งจะขึ้นกับความเชื่อหรือไม่เชื่อของผู้อ่านแต่ละท่านนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความคิด สติปัญญา และมุมมองต่าง ๆ ที่อาจสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสังคมและส่วนรวมได้เป็นอย่างดี
ร่วมด้วยช่วยกันคิด เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในต่างมุมมองที่เป็นเรื่องสร้างสรร ที่อาจก่อให้เกิดคุณค่าของการมองต่างมุมโดยรวม
ข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด ผมได้นำมาจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 22 – วันพุธที่ 24 มีนาคม 2553 ของ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในหัวเรื่อง แกะปมรัฐธรรมนูญ – ไขรหัส “มั่ว” อุทธรณ์หรือฟื้นคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ”
ผมได้อ่านการสัมภาษณ์พิเศษของผู้สื่อข่าวกับ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว โดยนำข้อความทั้งหมดตามที่ได้กล่าวข้างต้นมาให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ดุลยพินิจในมุมมองต่าง ๆ โดยไม่ได้ตัดทอนเพื่อการศึกษา และการพัฒนาแนวความคิดตามหัวข้อเรื่องข้างต้น ทั้งนี้ ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณจากการอ่านบทสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้นะครับ
หลังคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ ชินวัตร” มีคนที่ต้องทำการบ้านเพิ่มไม่น้อยกว่า 5 ฝ่าย อย่างน้อยมีทนายฝ่าย “จำเลย” ที่ต้องหา “ข้อเท็จจริงใหม่” มาต่อสู้ในขั้นอุทธรณ์ อย่างน้อยก็มีองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างน้อยก็มีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ – อดีตรัฐมนตรีที่ผูกพันตามคำพิพากษา
นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอัยการสูงสุดที่ต้องเตรียมข้อมูลฟ้องร้องกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด จนทำให้ “จำเลย” ร่ำรวยผิดปกติ 1 ใน 5 ฝ่ายที่ทำการบ้านเพิ่มคือ นักวิชาการด้านกฎหมายที่ชื่อ “ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์”
บรรทัดต่อไปนี้คือ “คำตอบ” จากการคร่ำเคร่งค้นคว้า-ความจริง-ไม่อิงขั้วการเมือง
หลังจากเข้ากระบวนการ 30 วัน ที่ศาลเปิดโอกาสให้อุทธรณ์แล้ว อาจารย์คาดหวังจะเห็นอะไร?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจ และเป็นปัญหากลไกซ่อนรูปในรัฐธรรมนูญ และนักกฎหมายหลายคนก็มองไม่เห็น เราพูดเรื่องอุทธรณ์ ว่าพอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว มีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา อาจารย์หลายคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่า นี่ไงมีการประกันสิทธิเสรีภาพ เรื่องการอุทธรณ์กระบวนการนี้เป็นธรรม เพราะเปิดให้มีการอุทธรณ์ให้ถึงที่สุด แต่เรื่องนี้คนรู้น้อยมากว่าใช่การอุทธรณ์หรือไม่ ไปถามในทางสากลจากนักกฎหมายในโลกนี้ทั้งโลก จะรู้ว่าที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 นี่มันไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ แม้จะเขียนว่า “อุทธรณ์” ก็จริง แต่เนื้อหามันไม่ใช่ อันนี้มันซ่อนปมอีกอันหนึ่ง
เพราะสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นลูกผสมระหว่างการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่ หรือการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ มันเป็นหลักการสำคัญ ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกัน ยกตัวอย่างคดีอาญา มีบุคคลคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต่อมาพนักงานสอบสวนก็สอบสวนมีการส่งเรื่องไปที่อัยการ และอัยการฟ้องไปที่ศาล เมื่อมีการตัดสินคดีแล้วมีการอุทธรณ์ ฎีกาเมื่อศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายืน คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา
ต่อมาเมื่อเขาอยู่ในคุก พบพยานหลักฐานว่าเขาไม่ใช่คนกระทำความผิด ระบบกฎหมายจะเปิดช่องให้เขา ขอให้พิจารณาใหม่ หรือว่ารื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งการอุทธรณ์กับการพิจารณาใหม่มีความแตกต่างกัน เพราะการอุทธรณ์คือการที่คู่ความในคดี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในระดับล่าง โต้แย้งคำพิพากษาของศาลขึ้นไปยังศาลระดับสูง ซึ่งแน่นอนว่า สามารถอุทธรณ์ได้ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หรืออาจให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
และการอุทธรณ์คือ การเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้งตัวคำพิพากษาของศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ เพราะต้องใช้พยานหลักฐานอันเดิม แล้วอุทธรณ์ว่าศาลตีความกฎหมายไม่ถูก หรือถ้าเป็นการยอมให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ในกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิด นี่คือการโต้แย้งทุกประเด็น หรือโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายทุกเรื่องขึ้นไป เรื่องว่าการอุทธรณ์
พอคดีจบแล้วถึงที่สุดแล้ว เมื่ออุทธรณ์ไม่ได้ เพราะมันจบ หลักก็คือ คำพิพากษาต้องเด็ดขาด ทีนี้เป็นไปได้ว่าคำพิพากษาอาจผิด ซึ่งระบบกฎหมายที่ยอมรับหลักความยุติธรรม เขาต้องยอมรับว่า มันเกิดความผิดพลาดได้เวลาที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะฉะนั้นระบบกฎหมายอย่างนี้ได้รักษาไว้ซึ่งความมั่นคง แน่นอน ของคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นที่สุดแล้ว
แต่อีกด้านหนึ่งระบบกฎหมายก็ต้องรักษาความยุติธรรมด้วย เขาก็จะเปิดช่องเอาไว้ว่าในภายหลังที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีการพบพยานหลักฐานใหม่ว่าที่ศาลตัดสินไปนั้นไม่ถูก เขาก็จะเปิดโอกาสให้คนซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น ยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ หลักในทางสากลคือ คดีอาจจบไปแล้วกี่ปีก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าคุณมีพยานหลักฐานใหม่ คุณต้องยื่นเสีย อาจจะภายใน 30 วัน เช่น คดีจบไปแล้ว 5 ปี แล้วคุณบังเอิญเห็นพยานหลักฐานอันนี้ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่ผิด คุณก็นำไปยื่น ตรรกะจะเป็นแบบนี้
แต่รัฐธรรมนูญไทย 2550 ได้สร้างระบบประหลาดขึ้นมา ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งอาจจะนับว่าเป็นการครีเอตของคนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เขาบอกว่า คนที่ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน แต่ต้องปรากฎพยานหลักฐานใหม่ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายแท้ ๆ ที่ใช้ในทางกฎหมาย และก็ไม่ใช่การขอให้พิจารณาใหม่ด้วย
ที่ผมบอกว่าไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะว่าคุณไปบีบเขาว่าเขาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วันนี้ คุณต้องเจอพยานหลักฐานใหม่ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ เพราะการอุทธรณ์ไม่ต้องเจอพยานหลักฐานใหม่ในระบบ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ด้วย เพราะคุณไปจำกัดเขาว่าเขาต้องทำภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ไม่ใช่ 30 วันนับแต่วันที่พบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจจะผ่านไป 5 ปี 10 ปีก็ได้
การอุทธรณ์จึงมั่ว ๆ ระหว่าง 2 หลัก?
ถูกต้อง มันมั่วเลย ไม่ใช่มั่ว ๆ กันอยู่ แต่มันไม่มีหลักอะไรเลยตรงนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดมากในทางระบบ อันนี้ต้องอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะที่พูด ๆ กันอยู่นี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง นี่พูดจริง ๆ หลายคนทำให้ผมดูถูกมากในทางความรู้ เพราะไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้แล้วพูดไป ทำให้สังคมเข้าใจผิด หลักก็เสียหมด
ประเด็นคือ ถ้าเอาตามตัวบทลายลักษณ์อักษรนี่ ทนายความของทักษิณต้องเจอหลักฐานใหม่ จึงจะสามารถอุทธรณ์ เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกลงโทษ ต้องให้มีการอุทธรณ์ได้ ครั้นจะสนับสนุนให้เขาอุทธรณ์เต็มที่ คุณก็เกรงอีก ก็เลยเอาเป็นระบบมั่ว ๆ อย่างนี้มาในรัฐธรรมนูญ มันเลยเป็นปัญหา
เป็นประเด็นขอให้พิจารณาในเนื้อหา?
ใช่ ๆ เพราะเรื่องแรกที่ต้องฝ่าด่าน คือว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้า หากไปถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้ามีการอุทธรณ์ เขาต้องดูว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ตามถ้อยคำ ตามตัวบท ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ก็น่าเห็นใจคนที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการ ในการตีความอยู่เหมือนกัน อันนี้จะไปโทษเขาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้นทางของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาแบบนี้ คือออกแบบมามั่ว ๆ แบบนี้
จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในข้างต้น ท่านผู้อ่านพอจะมีข้อคิดเห็น หรือได้ข้อคิดอะไรบ้างครับ ถ้ายัง ก็โปรดติดตามจนจบก็อาจจะพบแง่คิดอะไรที่แตกต่างจากการสัมภาษณ์นี้ได้ ซึ่งผมขออนุญาตตัดตอนคำสัมภาษณ์ที่เหลือไปต่อในตอนหน้านะครับ