Archive for ธันวาคม, 2014

Digital Economy in Thailand – เศรษฐกิจดิจิตอล (ตอนที่ 1)

มองไปข้างหน้ากับเศรษฐกิจดิจิตอล (Look Forward for Digital Economy)

พลเอกประยุกต์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลพลิกโฉมประเทศไทย ที่ได้จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทราราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว สรุปใจความได้ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดให้มีนโยบายที่เรียกว่า Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิตอล และนำเสนอต่อสภา ภายในเดือนมกราคม 2558 ทั้งนี้เพราะข้อมูลและสารสนเทศมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เพื่อให้กระบวนการบริหารและการจัดการที่ดี สามารถลดต้นทุน ประหยัดเวลา และสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องจัดให้มีศูนย์ประมวลผลข้อมูลกลางระดับชาติ ที่มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว เพื่อเชื่อมข้อมูลและสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ในการพิจารณาและตัดสินใจของผู้บริหาร นักธุรกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลนี้ได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง รัฐบาลจะจัดให้มีการพัฒนา และให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างสะดวก และจะสร้างกลไกในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกระดับ

การที่รัฐบาลจะส่งเสริม และผลักดันให้มีนโยบายทางด้าน Digital Economy หรือที่เรียกกกันว่า เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปอีกก้าวหนึ่ง และเป็นก้าวที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะ Digital Economy ได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการบริหารการจัดการในทุกระดับ อันเกิดจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยียุคใหม่ ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบไปถึงกระบวนทัศน์ หรือแนวความคิดใหม่ของการบริหารและการจัดการที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) นั้น มีเรื่องที่ควรพิจารณานอกเหนือจากการปรับปรุง กฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบและคำสั่งต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งกับกระบวนการตัดสินใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องของ Digital Economy บางมุมมองดังต่อไปนี้

รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะพิจารณาประเด็นและระบุปัญหา อุปสรรคในการก้าวไปสู่ Digital Economy ในทุกมุมมองของกระบวนการดำเนินงาน โดยมีกรอบในเรื่องนี้คือ

1. ความเข้าใจและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ซึ่งมีความเข้าใจและความต้องการที่แตกต่างกัน และมีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน ในการก้าวไปสู่การดำเนินงานตามนโยบายทางด้าน Digital Economy ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการดำเนินงานอย่างสำคัญ หากขาดดุลยภาพในการสนองตอบต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ดังนั้น การกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบาย พันธกิจ กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน ควรจะกำหนดเป็นกรอบที่ชัดเจน โดยกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง ปฏิบัติได้ วัดผลได้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และนโยบายทางด้าน Digital Economy ของประเทศ และควรมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนที่จะบรรลุผลในแต่ละขั้นตอน และในแต่ละกระบวนการของโครงการต่าง ๆ ที่จะตามมา

2. ความคาดหมายที่พึงได้รับตามนโยบาย Digital Economy ควรพิจารณาถึงองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่า รัฐมีการกำกับและดูแลกิจการที่ดี ตามนโยบายและแผนงานทางด้าน Digital Economy องค์ประกอบหลักที่ควรพิจารณา เพื่อให้แน่ใจว่า การสร้างคุณค่าเพิ่มจากนโยบายนี้จะบังเกิดขึ้นก็คือ ความมั่นใจในผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวกับ…

ก. กระบวนการทำงานที่มีคุณภาพ ที่ควรจะต้องเชื่อมโยงเป้าหมายของประเทศกับเป้าหมายระดับองค์กร กับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ IT ได้อย่างแนบแน่น

ข. การพัฒนาทักษะ ความรู้ความเข้าใจของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานระดับต่าง ๆ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มในระดับประเทศ ระดับองค์กร และในระดับหน่วยงาน ถึงกระบวนการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าเพิ่ม ในมุมมองของเป้าหมายที่ไม่ใช่ IT และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ IT

ค. การสร้างความพึงพอใจให้กับ ผู้มีผลประโยชน์ร่วม ในมุมมองของความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลและสารสนเทศ ที่ได้รับจาก National Data Center เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดพันธกิจ วางแผนทางกลยุทธ์ จากข้อมูลและสารสนเทศที่มีคุณภาพ และใช้ในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลและสารสนเทศร่วมกัน ข้ามสายงาน ข้ามองค์กร ข้ามประเทศ

ง. การให้บริการที่รวดเร็ว มีคุณภาพและประหยัดต้นทุน ปัจจัยนี้ จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นการวัดผลการดำเนินงาน ตามนโยบาย Digital Economy อย่างแท้จริง

3. ความต้องการของผู้มีผลได้เสียตามนโยบายนี้ นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายนี้แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารในองค์กรของรัฐ ทั้งภาครัฐ และเอกชน และหน่วยงานที่เป็นอิสระ หรือกึ่งอิสระ ควรพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับตามโครงการนี้ ให้ได้ดุลยภาพกับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ที่ต้องคำนึงถึง ความเสี่ยงในระดับองค์กร (Non – IT และ IT) กับดุลยภาพในการใช้ทรัพยากรของประเทศและของหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริงนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจอย่างบูรณาการ ตั้งแต่ ข้อ 1., 2. และ 3. เป็นอย่างดี นอกจากที่กล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะเชื่อมโยงความเข้าใจดังกล่าวในทั้ง 3 ประเด็น มาเชื่อมโยงกับเป้าหมายของปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ (Enablers) ทั้งทางด้าน IT และ Non – IT ในทุกองค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบย่อย รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่เชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จตามนโยบาย Digital Economy ทั้งนี้ เป้าหมายระดับประเทศที่เชื่อมโยงไปยังเป้าหมายระดับองค์กร ที่เป็นเรื่อง Non – IT ทุกเรื่อง จะต้องเชื่อมโยงและจัดให้มีความสัมพันธ์กับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ IT อย่างแยกกันไม่ได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการขับเคลื่อนความสำเร็จของ Digital Economy ตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นก้าวกระโดดในการผลักดัน กระบวนการบริหารและการจัดการอย่างบูรณาการอย่างแท้จริง ความเสี่ยงหรือจุดอ่อนที่จะทำให้โครงการนี้ประสบกับปัญหาในอนาคตก็คือ People – Process – Technology ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงาน (Operational Risk) ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการบริหารความเสี่ยง ที่ต้องได้ดุลยภาพกับการบริหารทรัพยากร

อนึ่ง ก่อนที่ผมจะจบข้อเขียนของผมในหัวข้อ Digital Economy นี้ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่เบื้องต้น ของการให้ข้อสังเกตของกระบวนการบริหารและการจัดการที่ดี ตามหลักการ Governance (Corporate Governance + IT Governance) มีเรื่องที่ผมได้กล่าวตอนท้าย ๆ ว่า เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ IT ควรจะส่งทอดไปยังเป้าหมายของปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งใกล้เคียงกับหลักกาารบริหาร 7-S Model ดังนี้

  • ความรู้ ความเข้าใจในหลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงานที่ดี
  • ความรู้ ความเข้าใจในหลักการของกระบวนการบริหารงานที่ดี ที่ควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การผลักดันและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ในองค์ประกอบที่กล่าวข้างต้น
  • ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง โครงสร้างการจัดองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกหน้าที่่ และความรับผิดชอบให้เหมาะสมกับนโยบาย Digital Economy
  • ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง วัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ IT ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่สามารถส่งต่อไปยังความสำเร็จของเป้าหมายระดับองค์กร และเป้าหมายระดับประเทศ ได้ในที่สุด
  • ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง การบริหารข้อมูลและสารสนเทศ และการสร้างความน่าเชื่อถือได้ของสารสนเทศ ที่ประมวลโดย National Data Center และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการให้บริการ การจัดโครงสร้างพื้นฐาน และระบบงาน
  • ความรู้ ความเข้าใจของการพัฒนาบุคลากร ทักษะ และศักยภาพ ในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายและการบริหารงานตามนโยบาย Digital Economy ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยเอื้อดังกล่าวส่วนใหญ่ในวงการบริหารหลายแห่ง อาจมีความเข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสร้างคุณค่าเพิ่ม เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ผมจะออกความเห็นและให้ข้อสังเกตที่อาจจะมีประโยชน์ได้บ้าง ในมุมมองตามที่กล่าวข้างต้น โดยขยายความในแต่ละหัวเรื่องใหญ่ และหัวเรื่องย่อยที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงอย่างแยกกันไม่ได้ ระหว่างเป้าหมายของประเทศกับเป้าหมายขององค์กรต่าง ๆ ที่เป็นเรื่อง Non – IT กับเป้าหมายของประเทศกับเป้าหมายขององค์กรต่าง ๆ ในเรื่อง IT หรือ IT – Related ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่เป็นความต้องการของรัฐบาล และผู้มีผลประโยชน์ร่วม ทั้งในและต่างประเทศตามที่จะได้กล่าวในตอนต่อ ๆ ไปนะครับ

 
https://www.amazon.com/Bikeroo-Oversized-Comfort-Comfortable-Replacement/dp/B07B646ZZY/