การกำกับดูแลกิจการที่ดีทางด้าน Digital Economy โดยภาครัฐ
ท่านผู้อ่านครับ ผมมีปัญหาบางประการเกี่ยวกับ http://www.itgthailand.com มาหลายวันแล้ว หากท่านผู้อ่านพบปัญหาในการติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่าน http://www.itgthailand.com ขอให้ท่านผู้อ่านได้มา http://www.itgthailand.wordpress.com นะครับ
ในหัวข้อเศรษฐกิจดิจิตอลตอนที่ 5 นี้ ผมจะขอพูดต่อในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การทำหน้าที่ในลักษณะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) หรือผู้อำนวยการตามโครงการนี้ แล้วแต่จะใช้คำใดโดยภาครัฐนั้น ผมมีความเห็นส่วนตัวบางประการที่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินการก่อนก้าวไปสู่การกำหนดนโยบาย การกำหนดกลยุทธ์ และแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะวิธีการก้าวสู่เป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น มีเรื่องต่าง ๆ ที่ควรพิจารณามากมาย หากกระบวนการต่าง ๆ ไม่ชัดเจน จะมีปัญหาอย่างมากในการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งต้องการการประสานงาน และความเข้าใจโดยรวมอย่างแท้จริง ซึ่งผมอาจจะอธิบายต่อไปจากตอนที่ 4 ดังนี้ครับ
การสัมฤทธิ์ผลของกระบวนการทางด้าน Digital Economy ควรมีการกำหนดทิศทางของการกำกับดูแลที่เรียกกันว่า Governance ซึ่งในยุคปัจจุบันหมายถึง การสร้างคุณค่าเพิ่ม โดยแบ่งแยกกระบวนการการกำกับดูแล และการบริหารจัดการสำหรับ IT ระดับประเทศและองค์กร ที่เชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ ในมิติต่าง ๆ ของประเทศหรือองค์กรที่ต้ัองการ ซึ่งกระบวนการนี้กล่าวได้ว่า เป็นหน้าที่ของภาครัฐอย่างแท้จริง เพราะจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมและการกำกับดูแลทางด้าน IT ที่มีจุดมุ่งหมายหลักไปที่ผลลัพธ์ของ Digital Economy ที่เกิดจากกระบวนการทางด้าน IT ระดับประเทศและระดับองค์กร ที่มีอยู่ 5 กระบวนการและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ได้ มิใช่เฉพาะเพียงการสร้างความโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น แต่การสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสนี้ จะต้องประกอบไปด้วยการประเมิน สั่งการ และเฝ้าติดตาม ในกระบวนการเพื่อสร้างความโปร่งใสเอง และที่จะมีผลต่อการประเมิน สั่งการ และเฝ้าติดตาม อีก 4 กระบวนการหลัก ซึ่งได้แก่
1. การสร้างความมั่นใจในการกำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานการกำกับดูแลนโยบาย กลยุทธ์ แผนงานและโครงการ ที่จะเชื่อมโยงไปยังพันธกิจและวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่ Digital Economy ของประเทศไทย
2. การสร้างความมั่นใจในการส่งมอบผลประโยชน์ทุกมิติของการบริหารการจัดการ แนวทางปฏิบัติของกระบวนการที่จะนำไปสู่ดุลยภาพของเป้าประสงค์ที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เช่น
มิติของการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพ ความรู้ความเข้าใจ ของบุคคลากรในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล (Governance) ควรจะกำหนดเป็นกรอบที่ชัดเจนว่าจะมีวิธีการอย่างไร และจะมีการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อการขับเคลื่อน Digital Economy ไปสู่พันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ต้องการ
เมื่อมาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจตรงกันนะครับว่า การมีและการสร้างความโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้เสียนั้น มิใช่มีเพียงความหมายว่า สามารถพิสูจน์ผลของการกระทำที่สามารถควบคุมได้ และสามารถตรวจสอบได้เท่านั้น แต่กระบวนการสร้างความมั่นใจในกระบวนการโปร่งใสนี้ ยังจะหมายถึง ความมั่นใจในทั้ง 5 กระบวนการตามที่กล่าวข้างต้น นั่นก็คือ ความโปร่งใสจะต้องประกอบด้วย การสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีผลประโยชน์ร่วมว่า การกำกับดูแลทางด้าน Digital Economy ได้มีการกำหนดกรอบและทิศทางที่ชัดเจน และเชื่อมโยงไปยังปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่เกี่ยวข้องกับ
1. หลักการและความเข้าใจในการกำกับและเข้าใจวิธีปฏิบัติในแบบองค์รวม เพื่อการสัมฤทธิ์ผล ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและกรอบการดำเนินงานทางด้าน Digital Economy ในข้อนี้ ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้นะครับว่า นโยบายจะต้องมีหลักการและกรอบการดำเนินงานที่กำหนดทิศทางและวิธีการทำงานอย่างเป็นกระบวนการตามมิติทั้ง 5 ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 2 ข้างต้น และแน่นอนว่า หลักการบริหาร Digital Economy อย่างเป็นกระบวนการนั้น จะต้องเชื่อมโยงด้วยกระบวนการบูรณาการ ที่เชื่อมโยงระหว่างเป้าประสงค์ทางด้าน Digital Economy กับเป้าประสงค์ของประเทศ และขององค์กรที่เกี่ยวข้องทางด้าน IT และ Non-IT ซึ่งผู้อำนวยความสะดวกและผู้อำนวยการทางด้าน Digital Economy นี้ควรจะเข้าใจทั้ง 2 ภาพอย่างบูรณาการที่แยกกันไม่ได้
2. กระบวนการซึ่งมีเรื่องต่าง ๆ ที่จะกล่าวอีกมากมายในตอนต่อ ๆ ไป
3. โครงสร้างองค์กร
4. วัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมในการทำงาน
ซึ่งในข้อ 2 – 4 นี้จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและแยกกันไม่ได้ในทุกกระบวนที่เกี่ยวข้องกับหลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงาน และยังจะต้องเชื่อมกับการบริหารจัดการทรัพยากร ที่มีปัจจัยเอื้อที่เกี่ยวข้องอีก 3 เรื่องด้วยกันคือ
5. การบริหารสารสนเทศ
6. กระบวนการบริหารโครงสร้างพื้นฐานและระบบงาน
7. การบริหารบุคลากร ทักษะด้านศักยภาพ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนปัจจัยเอื้อทั้ง 7 นี้อย่างเป็นบูรณาการ
ดังนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy จึงจะต้องเกี่ยวข้องกับหลักการของ Governance ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า “Digital Economy Management” อีกหลายกระบวนการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางผู้อำนวยความสะดวก หรือผู้อำนวยการทางด้าน Digital Economy จะต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผล การสั่งการ และเฝ้าติดตาม ตามหลักการของ Governance อย่างแยกกันไม่ได้ แต่ความรับผิดชอบในกระบวนการ Management จะอยู่ภายใต้ร่มของ หลักการ Governance ที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐฯ ที่มีผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้อำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบตามสายงานที่เกี่ยวข้อง
ท่านผู้อ่านครับ ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นและเข้าใจตรงกันว่า กระบวนการ รวมทั้งบทบาทหน้าที่และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและความสัมพันธ์กันนั้น มีเรื่องที่ท้าทายความเข้าใจของผู้อำนวยความสะดวก และผู้อำนวยการที่จะเชื่อมโยงไปยังการกำหนดนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับหลักการ และกรอบการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง และแน่นอนว่าจะเกี่ยวข้องกับทุกองค์ประกอบของปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จที่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างบูรณาการ และเชื่อมโยงกับการกำกับดูแลทางด้าน IT ระดับประเทศและระดับองค์กร และแน่นอนว่าจะต้องบูรณาการและเชื่อมโยงกับการกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจน และจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นกรอบกว้าง ๆ และเป็นเรื่องหลัก ๆ ของ Governance ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy
ตอนต่อไปผมจะได้ขยายความในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ของผู้อำนวยความสะดวก หรือผู้อำนวยการที่รับผิดชอบในเรื่องของ Governance ในระดับหนึ่งว่า มีความเชื่อมโยงกับ Management ทางด้าน Digital Economy อย่างไร
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจมากใช่ไหมครับว่า การก้าวไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มั่งคั่ง มั่นคง จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ Digital Economy นั้น มีเรื่องที่ต้องคุยกันมาก เพราะจะนำไปสู่ความมั่นใจของความสำเร็จในนโยบาย Digital Economy ของประเทศครับ