สวัสดีครับทุกท่าน อาจจะทิ้งช่วงนานไปหน่อยสำหรับท่านที่สนใจติดตามกรณีศึกษาของ บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แถวหน้าในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องล้มละลาย เนื่องจากใช้เทคโนโลยีทางบัญชีเพื่อบิดเบือนข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้บริษัทต้องล้มละลาย ซึ่งกรณีศึกษานี้มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ผมเลยต้องนำเสนอเป็นหลาย ๆ ตอนไป ทำให้การเล่าเรื่องขาดอรรถรสและความต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้สนใจสามารถติดตามเรื่องราวที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ได้เสมอ อย่างน้อยเพื่อเป็นการทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ การใช้ดุลยพินิจ การวิเคราะห์ความเสี่ยง จาก Risk IT และ IT Risk ที่มีผลต่อ Business Risk ที่ผู้บริหารทุกระดับ และผู้ปฏิบัติควรเข้าใจและตระหนักถึง
และผมจะพยายามนำเสนอให้ตอนนี้เป็นตอนจบสำหรับกรณีศึกษาของ เลห์แมนฯ นี้นะครับ เราไปพิจารณาถึงเอกสารรายงานของวาลูกัสต่อว่า กลวิธีทางบัญชีแบบนี้ผิดหรือไม่ คงจะมีการหาข้อสรุปได้ในไม่ช้า แต่ เรโป 105 กำลังเป็นบ่วงกรรมที่อาจตามหลอกหลอนอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง เนื่องจากนายวาลูกัสได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ในรายงานด้วยว่า “แม้กรรมการบริหารบางคนของ เลห์แมนฯ ในช่วงที่ประสบภาวะล้มละลาย ไม่จำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบ แต่ผู้บริหารระดับสูงอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบ”
นายวาลูกัส ได้ระบุชื่อของ ดิ๊ก ฟุลด์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้ง คริส โอเมียรา เอียน โลวิตต์ และ อิริน คัลแลน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท อาจเผชิญกับการฟ้องร้องฐานประมาทเลินเล่อ หรือกระทำผิดหน้าที่ แม้แต่ เอิร์นสต์ แอนด์ยัง ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีให้กับ เลห์แมน บราเธอร์ส ก็อาจพลอยติดร่างแหไปด้วย เพราะวาลูกัสระบุในรายงานเอกสารด้วยว่า หลักฐานที่ปรากฏสนับสนุนการฟ้องร้อง เอิร์นสต์ แอนด์ยัง ในข้อกล่าวหาการละเมิดทางวิชาชีพ เนื่องจากบริษัทเพิกเฉย หรือไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะตั้งคำถามหรือพยายามตรวจสอบพฤติกรรมการไม่เปิดเผยข้อมูลของ เลห์แมนฯ จากการใช้ธุรกรรมนอกงบดุลบัญชีชั่วคราว ที่มีวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์
ความน่าสนใจประเด็นต่อมาคือ วาลูกัสและทีมงาน ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่เข้าไปตรวจสอบเอกสารใน เลห์แมน บราเธอร์ส
ในคอลัมน์ Dealbook ของนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน มีคณะตรวจสอบ ที่มาจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก ได้เข้าไปในสำนักงานใหญ่ของ เลห์แมน บราเธอร์ส อย่างเงียบ ๆ โดยมีการจัดเตรียมโต๊ะทำงาน โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ช่องทางในการเข้าถึงสถิติตัวเลข และรายงานทางบัญชีทั้งหมดของ เลห์แมนฯ
ทีมงานชุดนี้ได้รับมอบหมายจาก ทิโมธี ไกธเนอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก และคริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ในช่วงเวลานั้น ให้ติดตาม เลห์แมน บราเธอร์ส อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ แบร์ สเติร์นส์ อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย
ในช่วงเวลานั้น หน่วยงานทั้งสองไม่ได้ส่งแค่ทีมเดียวไปที่ เลห์แมน บราเธอร์ส แต่ทีมงานคล้าย ๆ กันได้เข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิดในสำนักงานของ โกลด์แมน แชกส์ มอร์แกน สแตนเลย์ เมอร์ริล ลินช์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย
ทีมงานจากหน่วยงานทั้งสองได้เข้าตรวจสอบเอกสารทางบัญชี มีการสอบปากคำผู้บริหารระดับสูง เกี่ยวกับการตัดสินใจต่าง ๆ รวมทั้งยังได้ตรวจทานรายงานผลประกอบการรายไตรมาสก่อนเผยแพร่ด้วย แต่ที่น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เลห์แมน บราเธอร์ส เพิ่งมาปรากฏในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา โดยผู้ตรวจสอบอิสระที่ได้รับมอบหมายจากศาลล้มละลาย
ในช่วงเวลาที่ทีมงานของหน่วยงานทางการเงินทั้งสองเข้าไปตรวจสอบ จริง ๆ แล้ว เป็นช่วงที่ได้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินสดก้อนมหึมาเข้า ๆ ออก ๆ เช่น ในไตรมาส 4 ของปี 2550 เลห์แมนฯ ใช้ธุรกรรม เรโป 105 ลดงบดุลบัญชีสุทธิในช่วงสิ้นไตรมาส ประมาณ 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์ อีก 4.91 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2551 และ 5.038 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน การเคลื่อนย้ายจำนวนเงินก้อนใหญ่เหล่านี้ กลับมีปรากฏอยู่ในรายงานของวาลูกัสเท่านั้น
คุณูปการของการเปิดโปงพฤติกรรมการใช้ธุรกรรม เรโป 105 ของเลห์แมนฯ คือการสะท้อนให้เห็นว่า การอาศัยช่องโหว่ทางบัญชี เพื่อสร้างภาพลวงตาทางตัวเลข ไม่เคยสาญสูญไปจากโลกนี้
สาระสำคัญในรายงานของวาลูกัส เป็นเพียงบทเรียนล่าสุดที่ชวนให้นึกย้อนกลับไปถึงพฤติกรรม “คาบลูกคาบดอก” ของการทำบัญชีในหลาย ๆ กรณี ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบทุนนิยมโลก
อย่างกรณีการตบแต่งบัญชีของ เอนร็อน ก่อนที่ยักษ์ใหญ่วงการพลังงานจะเดินสู่ภาวะล้มละลาย และสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจหลายบริษัทขึ้นมา เพื่ออำพรางหนี้สินให้พ้นไปจากบริษัท หรือ อีกกรณีที่น่าสนใจ คือการทำธุรกรรม เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกรีก ในเดือนเมษายน ปี 2545 ที่รัฐบาลกรีกนำพันธบัตรออกขายระดมทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ กำหนดไถ่ถอนวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ที่อัตราผลตอบแทน 5.90% ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีสถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปรับประกันการจำหน่ายหลายราย รวมถึง โกล์ดแมน แซกส์ มอร์แกน สแตนเลย์ และ คอยช์แบงก์
กระทั่งมีการเปิดโปงในเวลาต่อมาว่า โกลด์แมน แซกส์ ได้ใช้กลวิธีในการทำข้อตกลงสวอป โดยเริ่มต้นด้วยข้อตกลงสวอปอัตราแลกเปลี่ยนข้ามสกุลเงิน (Croos – Currency Swop) ออกโดยกรีซ มีทั้งสกุลเงินดอลลาร์ และเยน วงเงินรวมกัน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้นจึงนำมาสวอปเป็นเงินยูโร ซึ่คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนในอดีต ถือเป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยทำให้หนี้ดูเหมือนลดลง และกรีซได้เงินทุนมาประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
บ่วงกรรมของการใช้นิติกรรมอำพราง กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจกรีซอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยที่ไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่า ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปรายนี้ จะแปรสภาพเป็นชนวนก่อวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่หรือไม่ หรือจะมีอัศวินม้าขาวมาปลดชนวนได้ทัน
จากกรณีศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ท่านผู้อ่านพอจะวิเคราะห์ได้นะครับว่า ผลกระทบของเทคโนโลยี และจุดอ่อนที่เกิดจากการบริหารและการจัดการสารสนเทศ (Information Management) สามารถบิดเบือนข้อมูล รวมทั้งสร้างฐานะของบริษัท ให้แตกต่างไปจากความเป็นจริงได้อย่างมากมาย มีผลกระทบในทุกมุมมอง และในทุกระดับของการบริหารและการจัดการของทุกองค์กรทั่วโลกในปัจจุบัน
ท่านพร้อมหรือยังครับ กับการพัฒนาตนเองและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในองค์กรของท่านเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ Accountability หรือ การแสดงความรับผิดและรับชอบตามหน้าที่ ๆ ได้รับมอบหมายตามผลงานที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้ลงมือปฎิบัติด้วยตนเองก็ตาม ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าได้ก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีสารสนเทศ กับการบริหารความเสี่ยงเพื่อการจัดการที่ดี เพราะในบางองค์กรของไทย ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาการบริหารและการจัดการกับกระบวนการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สร้างปัญหาและความคลางแคลงใจ ในความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลทางการเงิน ให้กับผู้กำกับและผู้มีผลประโยชน์ร่วม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างขององค์กรไม่เหมาะสม เช่น จัดให้มีผู้บริหารควบคุมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบัญชี ระบบการเงิน อยู่ภายใต้บุคคลคนเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะก่อให้เกิดปัญหาการบิดเบือนข้อมูล การตบแต่งบัญชีทางเงิน และการทุจริต ที่จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีผลประโยชน์ร่วมเป็นอย่างมาก