ความชัดเจนของแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ที่น่าจะสัมพันธ์กับการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีของไทยบางมุมมอง ในอนาคต (ตอน 7) – Human Capital Development

มกราคม 5, 2012

จากจุดมุ่งหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) คือการนำอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใน 5 สาขา ประกอบด้วยสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุน ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดเสรีดังกล่าว ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันตามศักยภาพของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศ

การขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่ตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงแนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการทาง ASEAN ICT Master Plan 2015 ซึ่งได้นำเสนอมาตามลำดับ

ครั้งนี้ผมจะนำเสนอเป็นตอนที่ 7 ครับ โดยจะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 5 ในเรื่องของการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) ซึ่งการพัฒนาทุนมนุษย์นั้น เป็นฐานรากที่สอง ที่มุ่งเน้นจะช่วยให้ประชาชนของอาเซียน ได้พัฒนาทักษะเพื่อยกระดับไอซีที ช่วยให้แรงงานด้านไอซีทีมีความสามารถมากขึ้น และทำให้ประชาคมมีความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องด้วย 2 สิ่ง คือการฝึกหัด และการรับรองมาตฐานทักษะด้านไอซีที

สำหรับมาตรการที่ช่วยในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ

มาตรการ 5.1 การสร้างสมรรถภาพ

มาตรการ 5.2 การเพิ่มพูนทักษะและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ

ASEAN ICT Master Plan น่าจะเป็นคำตอบรวมทั้งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สามารถสร้างพื้นฐาน และกระบวนการบริหารแบบสอดประสานและบูรณาการตามกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน ไปสู่วิสัยทัศน์ที่สนับสนุนการก้าวสู่ AEC ที่เป็นรูปธรรมได้แทบทุกมุมมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเสรีทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากการเปิดเสรีดังกล่าว อาจทำให้แรงงานฝีมือในอาเซียนย้ายจากประเทศที่มีค่าตอบแทนต่ำ (ประเทศในแถบอินโดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงไทย) ไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าและมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย อาทิ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่าการเปิดเสรีแรงงานฝีมือดังกล่าว จะทำให้แรงงานฝืมือของไทยในบางสาขาย้ายไปทำงานในมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และวิศวกร มีผลให้อนาคตไทยอาจขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป

นอกจากนั้น ในระยะยาว หากมีการขยายกรอบความร่วมมือเป็น ASEAN+3 หรือ ASEAN+6 ก็มีความเป็นไปได้ว่าแรงงานฝีมือในบางสาขา อาทิ การเงินธนาคาร รวมถึง IT จากประเทศเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานบุคลากรไทยมากขึ้นนั้น

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ มาตรการและแผนการดำเนินงาน ตาม ASEAN ICT Master 2015 เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงอาจจะลดปัญหาต่าง ๆ ตามประเด็นของการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ซึ่งหลายท่านอาจจะเป็นห่วงอยู่ได้บ้างนะครับ