Posts Tagged "e-Government"

ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 10

Governance and Digital Governance and Innovative Technology / Business Model

ในตอนที่ 9 ผมได้กล่าวไว้ตอนท้ายว่า ท่านผู้ว่าการ ธปท. ได้พูดถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Innovative Technology และ Business Model ยุคใหม่ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างน้อย 3 มิติ ซึ่งได้นำเสนอข้างต้นไปแล้วในมิติแรก ส่วนอีก 2 มิติ ที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่ม “ผลิตภาพ” และมิติสุดท้าย คือ การสร้างภูมิคุ้มกันนั้น

ในตอนที่ 10 นี้ ผมจะนำเรื่องที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ ในงาน Dinner Talk ที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนากรรมการไทย – IOD เรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” มาเล่าต่อ โดยผสมผสานกับมิติของธรรมาภิบาล/Governance อีกมิติหนึ่ง คือ Digital Governance ที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับคำว่า Governance อย่างใกล้ชิด และแยกกันไม่ได้ ความหมายคำว่า Digital Governance ในที่นี้ก็คือ กรอบของการกำกับดูแลการบริหารไอทีระดับองค์กรและระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความรับผิดชอบของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและประเทศที่ชัดเจน เพื่อกำหนดนโยบายทางด้าน Digital หรือพูดให้ชัดขึ้นไปอีกก็น่าจะพูดได้ว่า เป็นการกำหนดวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการ เชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การผลักดันการจัดทำ และการใช้มาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสามารถจะเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานภาคเอกชน ในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนในเรื่อง หลักการและกรอบการดำเนินงานทางด้าน Digital Governance Framework นโยบาย กลยุทธ์ และมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นสากล เพื่อก้าวไปสู่ Digital Economy ภายใต้กรอบ Thailand 4.0

Source: ISACA

สำหรับวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการ เพื่อการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าจะเป็นแนวทางของรัฐนั้น หากจะพูดเป็นกรอบสั้นๆ ในการเตรียมการเบื้องต้น น่าจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรม/EA-Enterprise Architecture เป็นส่วนใหญ่ ก็คือ

  • การกำหนดวิสัยทัศน์ ในภาพรวมของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
  • การสร้างสถาปัตยกรรมธุรกรรมภาครัฐโดยรวม
  • การสร้างสถาปัตยกรรมระบบงานและข้อมูล
  • การกำหนดสถาปัตยกรรมเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Governance
  • ศึกษาความเป็นไปได้
  • การวางแผนการดำเนินงาน ในการเชื่อมโยงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Digital Governance)
  • การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ภาครัฐควรกำหนดแนวทางผลักดันในการจัดทำ ในการใช้มาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Collaborative e-Business/e-Government) ซึ่งตัวอย่างในเรื่องนี้ก็ได้แก่ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปบ้างแล้วนั่นคือ National Single Window (NSW) ซึ่งยังต้องการการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ ควรศึกษามาตรฐานระดับประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรอบนโยบายการพัฒนาระบบเชื่อมโยง Collaborative e-Government พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกอย่างต้องมีมาตรฐานในทุกหมวดที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบ Digital Governance

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทาย หากจะก้าวไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 / Digital Economy ซึ่งภาครัฐควรจะกำหนดบทบาทและใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ผ่านมีเดียต่างๆ รวมทั้งการมอบหมายอำนาจ หน้าที่การปฏิบัติงานให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารทรัพยากรที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในหัวข้อของ Digital Governance นี้จะเชื่อมโยงกับหลักการของ Corporate Governance + IT Governance + Governance of Enterprise IT อย่างบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของประเทศในขณะนี้คือ Thailand 4.0 ที่จะเกี่ยวข้องกับทุกมิติ ภายใต้หลักการและกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดียุค Innovative Technology และ Business Model ยุคใหม่ ที่จะเกี่ยวข้องกับ Digital ในแทบทุกเรื่องหลักๆ ทั้งระดับองค์กร และระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยงาน ที่จะต้องขับเคลื่อนโดยผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งด้านความคิดและปฏิบัติที่ดี ซึ่งผมเคยได้เล่าสู่กันฟังในตอนต้นๆ และในเรื่องที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว

ตอนนี้ผมได้เกริ่นนำจากเรื่อง Innovative Technology และ Business Model ไปสู่กรอบที่เกี่ยวข้องคือ Digital Governance อย่างไรก็ดี ผมจะขอนำเสนอปราศรัยของท่านผู้ว่า ธปท. ในมิติที่ 2 และมิติที่ 3 ต่อจากนี้เลยนะครับ

มิติที่ 2 ที่คณะกรรมการบริษัทอาจจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “ผลิตภาพ”

วันนี้ที่เราเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง และประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า หมายความว่าในอนาคต คนไทยในวัยทำงานต้องเก่งขึ้นกว่าคนไทยในวันนี้มาก ต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น เพราะคนไทยแต่ละคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น เรื่องผลิตภาพเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น

การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญการลงทุนของภาคธุรกิจไม่ควรคิดเพียงเพื่อ เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของธุรกิจของตน พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้โลกใหม่ของเรา มีข้อมูลรายธุรกรรม (digital footprint) ของทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา ข้อมูลในระบบ digital จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้เรายกระดับประสิทธิภาพการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การทำการตลาด รวมถึงการบริหารความเสี่ยง มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับดิจิทัลจะเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิมมาก ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน

นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพที่จะสำคัญมากขึ้นในโลกใหม่ คือ การลงทุนในสิ่งที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) การสร้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้นำขององค์กร การสร้างระบบจัดการความรู้ในองค์กร ตลอดจนการพัฒนาความรู้ และทักษะตลอดชีวิตการทำงานของพนักงาน

การพัฒนาคนในภาคธุรกิจมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้คนไทยในวัยแรงงานอยู่ในภาคเอกชน มากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด การสร้างคนของภาคธุรกิจจึงเท่ากับการสร้างคนให้กับประเทศ ในบริบทของโลกยุคใหม่ คนไทยต้องมีทักษะหลายอย่างที่ระบบการศึกษาดั้งเดิมอาจจะไม่ได้สอนไว้ ถ้าจะให้คนไทยเก่งขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกยุคใหม่แล้ว ภาคธุรกิจจะสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับศักยภาพของคนไทยให้มีทักษะที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต มีทักษะที่จะรับมือ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ทักษะที่จะมีความสำคัญมากขึ้น มีหลายเรื่องตั้งแต่ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร และที่สำคัญคือทักษะในการประสานความร่วมมือกับคนอื่น ในการแก้โจทย์ที่ยาก เรามักได้ยินว่าคนไทย “เก่ง” แต่เป็นความเก่งเฉพาะบุคคล ขณะที่การทำงานร่วมกับผู้อื่นกลับ “มีข้อจำกัด” ในอนาคตความสามารถประสานความร่วมมือจะยิ่งสำคัญมากขึ้น ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งของภาคธุรกิจไทย และภาคธุรกิจสามารถที่จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแบบนี้แก่สังคมไทยได้

มิติที่ 3 ของการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ “สร้างภูมิคุ้มกัน”

ท่านผู้มีเกียรติครับ ในบริบทโลกที่เป็น VUCA ที่ผันผวนมากขึ้น ไม่แน่นอน ซับซ้อน ยากที่จะคาดเดา จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อ “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถ ในการบริหารจัดการความผันผวน และความไม่แน่นอนในรูปแบบต่างๆ

ในด้านการเงินนั้น ธุรกิจต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงทางการเงินสมัยใหม่ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เราต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช้เงินกู้ระยะสั้นสำหรับลงทุนในโครงการระยะยาว (maturity mismatch) ไม่ใช้เงินสกุลต่างกันระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินโดยไม่ปิดความเสี่ยงจนเกิด (currency mismatch) และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ชะล่าใจว่า จะมีใครมาคอยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์นอกประเทศเป็นหลัก ในวันนี้น่ากังวลใจเพราะงานศึกษาของ ธปท. ที่ลงรายละเอียดพบว่า ผู้ส่งออกกว่าร้อยละ 60 ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากด้านการเงินแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก คือ การบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ strategic risks หนึ่งในความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของโลกยุคใหม่คือ การไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในโลกยุคใหม่นี้ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องระมัดระวัง เราเห็นบทเรียนของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องล้มไปเพราะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัว (agility) มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่

นอกจากนี้ การละเลยและไม่คำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม และไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับของสังคม ก็เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงต่อชื่อเสียงที่สำคัญของธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมองรอบ มองกว้าง มองไกล และมองด้วยความเข้าใจ

แนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ในระยะยาวในความคิดของผมคือ “การสร้างความไว้วางใจ” จากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งในประเทศไทยมีหลายบริษัท ได้ยึดถือเรื่องนี้เป็นแนวปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบที่ดี ในโลกธุรกิจที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ความคาดหวังและมาตรฐานของสังคมจะสูงขึ้น จะทำให้โจทย์ของธุรกิจยากขึ้น ในสภาวะที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เรื่องหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่งคือ “ความไว้วางใจ” จากคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริโภค ผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทาง พนักงาน ตลอดจน ชุมชนและสังคมรอบตัว จะต้องสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน สามารถตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่า ทุกท่านคงเห็นด้วยว่าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการสร้างภาพ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วย “จิตวิญญาณ” และ “ปรัชญา” การทำงานขององค์กร ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และจริงใจในการดำเนินธุรกิจ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ภายใต้ความท้าทายและบริบทโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดเดา รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาผลิตภาพ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีศักยภาพสูงมากที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำ มีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยกระดับคุณภาพสังคมไทยได้ และเป็น “แนวทาง” ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย “คณะกรรมการบริษัท” เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ในการ “กำหนดทิศทาง” จัดสรรทรัพยากรและกำกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทยและสังคมไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อมั่นว่า ธุรกิจไทยจะชนะได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยวัฒนา

ขอบคุณครับ

ผมได้นำคำปราศรัยของท่านผู้ว่าการ ธปท. รวม 4 ตอน มาลงประกอบเรื่อง ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development เพื่อให้ทราบถึงทัศนะของผู้บริหารระดับสูงที่มีต่อ Innovative Technology / Business Model โดยผมนำมาเชื่อมโยงกับ Digital Governance ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงไปยัง Thailand 4.0 เพราะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องพัฒนาขึ้นมาให้มีความชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจของผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง และควรมีหลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และโครงการต่างๆ ที่ชัดเจนและเป็นบุรณาการให้สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าเพิ่ม ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง และการบริหารทรัพยากรที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วมอย่างได้ดุลยภาพ นี่คือ กระดุมเม็ดแรกของ Governance ครับ

 
https://www.amazon.com/Bikeroo-Oversized-Comfort-Comfortable-Replacement/dp/B07B646ZZY/